กานพลู

กานพลู ภาษาอังกฤษ Clove และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium aromaticum Merr. et Perry จัดเป็นไม้ยืนต้น และเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าใจที่มีสรรพคุณทางยาที่หลากหลาย มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นสมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ด โดยมีการเพาะปลูกและเกี่ยวมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น

กานพลู เรานิยมนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ดอกตูม ผล ต้น เปลือก ใบ รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหย ในบัญชียาสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีการใช้กานพลูเป็นยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) โดยปรากฏอยู่ในตำรับยาหลายชนิด ซึ่งได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ซึ่งจะมีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน อาหารหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน และยังมีการใช้กานพลูเป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ซึ่งประกอบไปด้วย ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ซึ่งจะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อยเป็นต้น

กานพลูซื้อที่ไหน? ถ้าซื้อน้อยก็ตามร้านยาแผนไทยทั่วไป ตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งก็มีขาย ร้านขายเครื่องแกงเครื่องเทศทั่วไป

ประโยชน์ของกานพลู

  1. กานพลูกานพลูมีสารประกอบอย่างฟีโนลิกในปริมาณมาก ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเรื่องการต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
  2. ใบกานพลูมีส่วนช่วยเผาผลาญแคลอรี ช่วยลดความอยากน้ำตาล และช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  3. กานพลูแก้ปวดฟัน ด้วยการใช้น้ำมันที่กลั่นมาจากดอกตูมของดอกกานพลูประมาณ 5 หยด แล้วใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำมันนำมาอุดในรูที่ปวดฟันจะช่วยบรรเทาอาการปวด ฟันได้ หรือจะนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่มีอาการปวดฟันก็ได้ หรือจะนำดอกของกานพลูมาตำให้แหลกผสมกับเหลาขาวเล็กน้อยพอให้แฉะแล้วนำมาอุด ฟันบริเวณที่ปวด (น้ำมันสกัด) หรือจะใช้ดอกตูมที่แห้งแล้วนำมาแช่เหล้าเอาสำลีชุบอุดรูฟันก็ได้เช่นกัน
  4. ช่วยรักษาโรครำมะนาด (โรคปริทันต์) หรือโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะรอบๆฟันนั่นเอง ด้วยการนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณที่มีอาการของโรค (ดอกตูม)
  5. สมุนไพรกานพลู ช่วยระงับกลิ่นปาก ดับกลิ่นเหล้าได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ดอกตูมของกานพลูประมาณ 3 ดอก อมไว้ในปากจะช่วยลดกลิ่นปากลงไปได้บ้าง และยังเป็นส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากหลายชนิด (ดอกตูม)
  6. ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดตาลาย (ดอก)
  7. ช่วยแก้อาการสะอึก แก้ซางต่างๆ (ดอก)
  8. ดอกตูมของกานพลู ใช้รับประทานเพื่อขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ดอกตูม)
  9. ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ (ดอกตูม)
  10. กานพลู สรรพคุณช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง ที่เกิดจากการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ (ดอกตูม)
  11. ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือก และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร (ดอกตูม)
  12. ช่วยแก้อาการท้องเสียในเด็ก (ดอกตูม)
  13. ช่วยแก้อาการเหน็บชา (ดอกตูม)
  14. ช่วยรักษาโรคหืดหอบ (ดอกตูม)
  15. สรรพคุณกานพลู ช่วยแก้อาการไอ ด้วยการอมดอกกานพลู ระหว่างอมอาจจะรู้สึกชาปากบ้างเล็กน้อย (ดอกตูม)
  16. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ดอกตูม)
  17. สรรพคุณของกานพลูช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียวข้น (ดอกตูม)
  18. ช่วยขับน้ำดี (ดอกตูม)
  19. มีส่วนช่วยในการดูดซึมของ ธาตุเหล็ก ให้ดียิ่งขึ้น
  20. ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย (ดอกตูม)
  21. ช่วยขับน้ำคาวปลา (ดอกตูม)
  22. ประโยชน์กานพลู ช่วยแก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ (ดอกตูม)
  23. ช่วยขับผายลม จับลมในลำไส้ (ดอกตูม)
  24. เปลือกของต้นการพลู ช่วยแก้อาการปวดท้อง แก้ลม และช่วยคุมธาตุ
  25. ผลของกานพลู นำมาใช้เป็นเครื่องเทศ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม
  26. น้ำมันหอมระเหยของกานพลู (Essential oil) ช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ (น้ำมันหอมระเหย)
  27. น้ำมันหอมระเหยของกานพลู ช่วยทำให้ประสาทสงบ
  28. ใช้เป็นยาระงับอาการชักกระตุก ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากกานพลู (น้ำมันหอมระเหย)
  29. ช่วยทำให้ผิวหนังชา ด้วยการใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลู เพราะมีสาร Eugenol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ (น้ำมันหอมระเหย)
  30. สรรพคุณของกานพลู ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อบิดชนิดไม่มีตัว เชื้อหนอง เชื้อโรคไทฟอยด์ เป็นต้น (ดอกตูม)
  31. น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูมีส่วนช่วยฆ่าเชื้อจากบาดแผล แมลงสัตว์กัดต่อยได้
  32. งานวิจัยพบว่าน้ำมันกานพลู สามารถช่วยละลายลิ่มเลือดและช่วยลดการจับตัวเป็นก้อนได้
  33. กานพลูเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่นำมาใช้ในการย้อมสีผม ซึ่งจะให้สีผมที่ใกล้เคียงกับสีดำ
  34. น้ำมันกานพลู (Clove oil) นำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร แต่งกลิ่นสบู่ และยาสีฟัน
  35. ประโยชน์ของกานพลูน้ำมันกานพลูมีฤทธิ์ในการช่วยไล่ยุงได้
  36. ใช้เป็นส่วนผสมของสมุนไพรในตำรับยาต่างๆหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น พิกัดตรีพิษจักร พิกัดตรีคันธวาต ยาหอมเทพจิต ยาหอมนวโกฐ ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู เป็นต้น
  37. ประโยชน์ของกานพลู เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่แนะนำให้รับประทานของหญิงให้นมบุตรเพราะช่วยเพิ่มการ ไหลเวียนของโลหิต และทำให้มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับหญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหอมระเหยกานพลู เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
  38. ผู้ผลิตบางรายได้นำกานพลูมาทำเป็นบุหรี่ หรือที่เรียกกันว่าบุหรี่กานพลู โดยมีการพัฒนาสูตรใหม่ๆเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติ ที่มีทั้งรสช็อกโกแลต รสบ๊วย รสวานิลา รสผลไม้ และอื่นๆ มากมาย แต่เหล่านี้ก็ยังถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอยู่ดีจึงไม่ขอแนะนำ และบุหรี่กานพลูก็มีพิษเทียบเท่ากับบุหรี่ทั่วไปอีกด้วย
  39. น้ำมันสกัดจากการพลูสามารถช่วยยับยั้งการเจริฐเติบโตของ Lactococcus garvieae ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ เมื่อนำอาหารปลาที่ผสมกับน้ำมันกานพลูมาเลี้ยงปลานิล จะทำให้ปริมาณการตายเนื่องจากการติดเชื้อ L. garvieae ของปลานิลลดลง

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

 

-----------------------------------------------------------------------------------------

กานพลู

ชื่อวิทยาศาสตร์ :    Syzygium aromaticum (L.) Merr.& L.M.Perry
ชื่อวงศ์ :   Myrtaceae
ชื่อพ้อง :  Caryophyllus aromatica  L.
                Eugenia aromatica  (L.) Baill
                E.Caryophylla (Spreng.) Bullock et Harrison
                E.caryophyllata Thunb.
ชื่อสามัญ :   Clove Tree

ลักษณะ : 
ไม้ต้น สูง 9-12 เมตร อาจสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบ สีเทา

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปไข่กลับแคบๆ กว้าง 8-11 ซม. ยาว 32-37 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนเป็นมัน มีต่อมน้ำมันมาก เส้นแขนงใบข้างละ 15-20 เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 1-2.5 ซม.

ดอก ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกที่ปลายยอด ยาวประมาณ 5 ซม. ก้านช่อดอกสั้นมาก แต่อาจยาวได้ถึง 1 ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 มม. เมื่อเป็นผลขยายออกเป็นรูปกรวยยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ยาว 3-4 มม. กลีบดอก 4 กลีบ รูปขอบขนานหรือกลม ยาว 7-8 มม. มีต่อมมน้ำมันมาก ร่วงง่าย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ร่วงง่าย ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 7 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มม. ผล รูปไข่กลับกามรูปรี ยาว 2-2.5 ซม. แก่จัดสีแดง มี 1 เมล็ด

 กานพลูเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของหมู่เกาะโมลุกกะ น้ำไปปลูกในเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยนำมาปลูกบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ชอบขึ้นในดินร่วนซุย การระบายน้ำดี ความชื้นสูง ฝนตกชุก ขึ้นได้ดีบนพื้นที่ราบถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800-900 เมตร ต้นกานพลูสามารถให้ผลผลิตเมื่ออายุได้ประมาณ 4-5 ปี จะให้ดอกประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน และจะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนธันวาคม
ดอกที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยว มีลักษณะเป็นสีเหลืองและสีชมพูอ่อนๆ ซึ่งเป็นช่วงดอก ตูม ก่อนดอกบานจะมีคุณภาพและสรรพคุณดีที่สุด ดอกกานพลูที่มีคุณภาพดีนั้น ต้องเป็นดอกกานพลูตมูที่แห้งสนิท มีดอกใหญ่ ถ้าเป็นดอกกานพลูที่บานแล้วนั้นจะมีสรรพคุณทางยาต่ำ

ส่วนที่ใช้ :  เปลือกต้น ใบ ดอกตูม ผล น้ำมันหอมระเหยกานพลู

สรรพคุณ :
เปลือกต้น  -  แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ
ใบ -  แก้ปวดมวน
ดอกตูม - รับประทานขับลม ใช้แต่งกลิ่น
ดอกกานพลูแห้ง ที่ยังไม่ได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นหอมจัด มีน้ำมันหอมระเหยมาก รสเผ็ด ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และแน่นจุกเสียด แก้อุจจาระพิการ แก้โรคเหน็บชา แก้หืด แก้ไอ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย ขับน้ำคาวปลา แก้ลม แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียว ขับผายลม ขับลมในลำไส้ แก้ท้องเสียในเด็ก แก้ปากเหม็น แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้รำมะนาด กับกลิ่นเหล้า แก้ปวดฟัน
ผล -  ใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม

กานพลู มีสรรพคุณเสมอกับ  ลูกจันทน์

น้ำมันหอมระเหยกานพลู - ใช้เป็นยาชาเฉพาะแห่ง แก้ปวดฟัน ฆ่าเชื้อทางทันตกรรม เป็นยาระงับการชักกระตุก ทำให้ผิวหนังชา

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
แก้อาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม และปวดท้อง ใช้ดอกกานพลูโตเต็มที่ ที่ยังตูมอยู่ 4-6 ดอก หรือ 0.25 กรัม
ในผู้ใหญ่  - ใช้ทุบให้ช้ำ ชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
ในเด็ก -  ใช้ 1 ดอก ทุบแล้วใส่ลงในขวดนม
เด็กอ่อน - ใช้ 1 ดอก ทุบใส่ในกระติกน้ำที่ไว้ชงนม ช่วยไม่ให้เด็กท้องขึ้นท้องเฟ้อได้

ยาแก้ปวดฟัน
ใช้นำมันจากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มในรูฟันที่ปวด จะทำให้อาการปวดทุเลา และใช้แก้โรครำมะนาดก็ได้ หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด หรือใช้ ดอกกานพลูตำพอแหลกผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อยพอแฉะใช้จิ้มหรืออุดฟันที่ปวด

ระงับกลิ่นปา
ใช้ดอกตูม 2-3 ดอก อมไว้ในปาก จะช่วยทำให้ระงับกลิ่นปากลงได้บ้าง

ข้อควรระวัง:
ไม่ควรใช้ดอกกานพลูในหญิงมีครรภ์  หญิงให้นมบุตร  เด็ก  ผู้ป่วยโรคตับไต  และผู้ป่วยเบาหวาน
 
ตำรายาไทย: 
มีการใช้กานพลูในหลายตำรับ ตัวอย่างเช่น ใน
พิกัดตรีพิษจักร  คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีรสซึมซาบไวดังกงจักร  3 อย่าง มี
     ผลผักชีล้อม ผลจันทน์เทศ และกานพลู
     สรรพคุณแก้ลม แก้พิษเลือด บำรุงโลหิต แก้ปวดจุกเสียด
พิกัดตรีคันธวาต  คือการจำกัด จำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมแก้ลม  3 อย่าง มี ผลเร่วใหญ่ ผลจันทน์เทศ และกานพลู มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แก้จุกเสียด

บัญชียาจากสมุนไพร: 
ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีการใช้กานพลู ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏในตำรับ
”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ยาหอมนวโกฐ” โดย มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
ตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ประกอบด้วย ยาธาตุบรรจบ มีส่วนประกอบของกานพลูร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ และอาการท้องเสียที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ และตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีกานพลูเป็นองค์ประกอบหลัก และมีสมุนไพรชนิดอื่นๆในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ

เมนูน้ำสมุนไพร ชากานพลู
ส่วนผสม
ดอกกานพลู                             4-5    ก้าน
น้ำผึ้งหรือน้ำตาลกรวด              1   ช้อนชา

วิธีการทำ
1. ใส่กานพลูในถ้วยชา ใส่น้ำร้อนเกือบเต็มทิ้งไว้ 5 นาที
2. ใส่น้ำผึ้งหรือน้ำตาลกรวดลงไปคนเข้ากัน
ควรดื่มอุ่นๆ จะช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยย่อย ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลและภาพจาก
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=67
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_06.htm
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=18
http://goo.gl/VI15e
http://it.doa.go.th/vichakan/news.php?newsid=23
ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม, กองประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=223895